แชร์

ซีสต์และอาการปวดหลังช่วงเป็นประจำเดือน: สาเหตุและการจัดการ

อัพเดทล่าสุด: 8 เม.ย. 2025

        อาการปวดหลังช่วงมีประจำเดือนเป็นประสบการณ์ที่คุณผู้หญิงหลายคนเผชิญ แต่หากอาการปวดรุนแรงผิดปกติหรือเกิดขึ้นซ้ำๆ อาจเป็นสัญญาณของ ซีสต์ในรังไข่ ซึ่งเป็นภาวะถุงน้ำที่เกิดในรังไข่และพบได้บ่อยในวัยเจริญพันธุ์ ซีสต์เหล่านี้สามารถกดทับอวัยวะและเส้นประสาทในช่องท้อง ทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างโดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างซีสต์กับอาการปวดหลัง รวมถึงวิธีสังเกตอาการและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม จะช่วยให้คุณจัดการกับภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น บทความวันนี้จึงพาทุกคนไปทำความรู้จักกับซีสต์ และอาการปวดหลังช่วงเป็นประจำเดือนจากซีสต์ให้ดียิ่งขึ้น

 


ซีสต์ในรังไข่คืออะไร

ซีสต์รังไข่ (Ovarian Cyst) คือ ถุงน้ำหรือกระเปาะที่เกิดบริเวณรังไข่ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการทำงานตามธรรมชาติของรังไข่ในช่วงมีประจำเดือน ถุงน้ำนี้อาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ และมีลักษณะเป็นถุงที่บรรจุของเหลว อากาศ หรือเนื้อเยื่อบางชนิด ถุงน้ำเหล่านี้มักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง และสามารถหายไปได้เองภายใน 2-3 รอบเดือน แต่หากซีสต์มีขนาดใหญ่หรือมีลักษณะผิดปกติ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อยหรือหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือน รวมถึงอาจกดทับอวัยวะใกล้เคียงจนรบกวนชีวิตประจำวันได้


ประเภทของซีสต์รังไข่

  • ซีสต์ปกติ : เกิดจากกระบวนการตกไข่ เช่น ซีสต์ฟอลลิคูลาร์ (Follicular Cyst) และซีสต์คอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum Cyst) มักยุบหายได้เอง

  • ซีสต์ผิดปกติ : เช่น ซีสต์เดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) หรือช็อกโกแลตซีสต์ (Endometrioma) ซึ่งอาจต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง


สาเหตุของซีสต์รังไข่

ซีสต์รังไข่เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ สาเหตุของการเกิดซีสต์รังไข่มีหลายประการ รวมถึงกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกายและความผิดปกติทางสุขภาพ แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีถุงน้ำเจริญขึ้นภายในหรือบนรังไข่ เกิดจากการสะสมของถุงน้ำหรือเนื้อเยื่อในรังไข่ ซึ่งส่งผลต่อลักษณะอาการ การรักษา และความรุนแรงที่แตกต่างกัน

1. ถุงน้ำจากการทำงานของรังไข่ (Functional Cyst)

เป็นซีสต์ที่เกิดจากกระบวนการตกไข่ตามธรรมชาติของรังไข่ โดยรังไข่จะสร้างถุงน้ำเพื่อห่อหุ้มเซลล์ไข่ก่อนปล่อยออกมาเมื่อถึงช่วงตกไข่ โดยทั่วไปถุงน้ำชนิดนี้มักยุบตัวหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือหลังมีประจำเดือนครั้งถัดไป จึงจัดเป็นซีสต์ชนิดไม่ร้ายแรงและมักไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติรุนแรง

2. ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)

เกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ซึ่งเนื้อเยื่อนี้จะไปเจริญนอกโพรงมดลูกและยังคงมีเลือดออกตามรอบประจำเดือน ส่งผลให้เลือดคั่งสะสมในถุงน้ำจนกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ายช็อกโกแลต ซีสต์ชนิดนี้มักก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง โดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนหรือมีเพศสัมพันธ์ และอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้หากไม่ได้รับการรักษา

3. เนื้องอกถุงน้ำรังไข่

เนื้องอกถุงน้ำรังไข่แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ชนิดไม่ร้ายแรง เช่น ถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) ที่มีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อร่างกาย เช่น ผม ไขมัน และ ชนิดที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็งรังไข่ ได้ เช่น ถุงน้ำซีรอส (Serous Cystadenoma) ซึ่งจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวนด์ หรือการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม


สาเหตุที่ซีสต์ในรังไข่ถึงทำให้ปวดหลังช่วงมีประจำเดือน

1. การกดทับอวัยวะหรือเส้นประสาทใกล้เคียง

ซีสต์ขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมากอาจกดทับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ รวมถึงเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง การกดทับนี้ทำให้เกิดอาการปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย และอาจปวดร้าวไปยังหลังส่วนล่างได้ โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือนที่มดลูกบีบตัวมากขึ้น

2. การอักเสบหรือภาวะซีสต์บิดตัว

หากซีสต์เกิดการบิดตัว (Ovarian Torsion) หรือแตก จะกระตุ้นการอักเสบเฉียบพลันในช่องท้อง ส่งผลให้ปวดท้องรุนแรงและปวดหลังร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการอื่นร่วม เช่น ไข้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์ทันที

3. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

ซีสต์บางชนิด เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ (เกิดจากเลือดประจำเดือนสะสม) มักสัมพันธ์กับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เยื่อบุเหล่านี้จะระคายเคืองและอักเสบในช่วงมีประจำเดือน ทำให้ปวดท้องน้อยร้าวไปหลังส่วนล่าง และมีอาการอื่น เช่น ท้องอืด แน่นท้อง

4. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ในช่วงมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเปลี่ยนแปลง อาจกระตุ้นให้ซีสต์ขยายขนาดหรือสร้างการอักเสบเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดท้องและปวดหลังชัดเจนขึ้นกว่าปกติ

วิธีจัดการและรักษาอาการปวดหลังจากซีสต์

การวินิจฉัยที่ถูกต้องเป็นขั้นตอนแรกและสำคัญที่สุดในการรักษาอาการปวดหลังจากซีสต์ แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการถ่ายภาพทางการแพทย์ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อยืนยันตำแหน่ง ขนาด และลักษณะของซีสต์ การวินิจฉัยที่แม่นยำจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้ โดยเมื่อผ่านการวินิจฉัยแล้ว ถ้าหากต้องเข้ารับการรักษาจะสามารถแบ่งวิธีการรักษาเป็น 2 กรณีได้แก่

  • การรักษาด้วยยา : การรักษาด้วยยาเป็นทางเลือกแรกสำหรับการบรรเทาอาการปวดหลังจากซีสต์ ยาที่มักใช้ ได้แก่ ยาแก้ปวดประเภทที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้นจากการปวดเรื้อรัง ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงกว่า อาจใช้ในกรณีที่อาการปวดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดทั่วไป (ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น)
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด : ในกรณีที่ซีสต์มีขนาดใหญ่ กดทับเส้นประสาท หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อนำซีสต์ออก


วิธีสังเกตอาการว่าเรามีซีสต์ในรังไข่หรือไม่

ซีสต์ในรังไข่เป็นภาวะที่โดยส่วนใหญ่แล้ว มักไม่แสดงอาการชัดเจนและสามารถหายได้เอง แต่ในกรณีที่ซีสต์มีขนาดใหญ่ เกิดการแตก หรือบิดขั้ว อาจทำให้เกิดอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ แต่บางครั้งอาจส่งสัญญาณผิดปกติที่ควรเฝ้าระวัง การสังเกตอาการเบื้องต้นช่วยให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจจัยและรักษาได้ทันเวลา ลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

  • ปวดบริเวณท้องน้อยหรือหลังส่วนล่าง : อาการปวดอาจเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ หรือปวดแบบต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือน หรือปวดร้าวไปยังหลังส่วนล่างและต้นขา ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีซีสต์ในรังไข่

  • ประจำเดือนผิดปกติ : ซีสต์ในรังไข่อาจส่งผลต่อรอบเดือน เช่น ประจำเดือนมามากผิดปกติ มาไม่สม่ำเสมอ หรือมีเลือดออกกระปริดกระปรอยระหว่างรอบเดือน

  • ท้องอืดหรือรู้สึกแน่นบริเวณท้องส่วนล่าง : ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่าท้องบวม แน่น หรือมีแรงกดดันบริเวณท้องส่วนล่าง ซึ่งอาจเกิดจากซีสต์ที่โตขึ้นจนไปเบียดอวัยวะภายใน

  • ปัสสาวะบ่อยหรือถ่ายลำบาก : หากซีสต์มีขนาดใหญ่ อาจกดทับกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ถ่ายลำบาก หรือมีอาการท้องผูกเรื้อรัง

  • เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ : ซีสต์บางชนิด เช่น ซีสต์จากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดแรงกดในบริเวณที่มีซีสต์


อาการอย่างไรที่เราควรพบแพทย์

  • อาการปวดหลังหรือปวดท้องน้อยที่รุนแรงและไม่หายไป
  • มีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน
  • คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย
  • มีไข้ คลื่นไส้ หรือเวียนศีรษะร่วมกับอาการปวดเฉียบพลัน
  • อาการปวดหลังรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
  • อาการปวดที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีไข้ร่วมกับอาการปวดหลัง
  • มีอาการปวดเมื่อปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์


สรุป

แม้ว่าการป้องกันการเกิดซีสต์ในรังไข่จะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาพโดยรวมได้ โดยก่อนไปวันนี้ เรามีข้อแนะนำสุดท้าย 5 ข้อ

  1. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
  2. สังเกตความผิดปกติของร่างกาย
  3. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  5. จัดการความเครียดให้ดี

บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้หญิงนอนตกหมอน มีอาการปวดคอ
ท่านอนที่ถูกต้องไม่มีอยู่จริง แต่การเลือกหมอนที่เหมาะสมและท่านอนที่ทำให้หลับสบายสามารถช่วยลดอาการปวดคอจากการนอนตกหมอนได้ และทำให้ตื่นมาสดชื่นพร้อมเริ่มวันใหม่ได้อย่างเต็มที่
24 มี.ค. 2025
หญิงสาวออฟฟิศมีอาการปวดคอ
ปวดคอ จากพฤติกรรมผิด ๆ รู้วิธีป้องกันและบรรเทาอาการง่าย ๆ เพื่อให้คอของคุณกลับมาแข็งแรงและไร้ความเจ็บปวด
24 มี.ค. 2025
ผู้หญิงสูงวัยมีอาการปวดคอ
อาการ ปวดคอ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย! เช็กสาเหตุและวิธีดูแลอย่างถูกต้อง ป้องกันภาวะเรื้อรังก่อนสายเกินไป
24 มี.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy