การติดอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าที่ไขสันหลัง

(Spinal cord stimulation / stimulation)

แพคเกจรักษาโรงพยาบาลเซเปี้ยนซ์ รักษาและบรรเทาอาการปวด ที่มีอาการเนื่องมาความเจ็บปวด ณ ศูนย์รวมเส้นประสาทที่ไขสันหลัง


เรียบเรียงวิธีการรักษา โดย พญ นาตยา อุดมศักดิ์


พญ นาตยา อุดมศักดิ์ หมอ pain วิสัญญี ระงับปวด


หลักการทำงาน


Spinal cord stimulation หรือ SCS เป็นเทคนิคที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าช่วยบรรเทาความปวด โดยส่งกระแสไฟฟ้าไปยังไขสันหลังและศูนย์กลางควบคุมความปวดในสมอง แม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาท (Neuropathic Pain) มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น หลับสบายขึ้น และอาจลดการใช้ยาแก้ปวดได้


ผู้ที่เหมาะกับ Spinal cord stimulation


อาการปวดหลังเรื้อรังหลังผ่าตัด (Failed Back Surgery Syndrome)

อาการปวดเฉพาะที่ซับซ้อน (Complex Regional Pain Syndrome)

อาการปวดจากระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Neuropathy)

อาการปวดแขนขาจากการขาดเลือด (Ischemic Limb Pain)


การรักษาด้วย SCS แบ่งออกเป็น 2 ระยะ:


1. การทดลองใช้อุปกรณ์ (Trial Phase)


ผู้ป่วยทุกราย คารเริ่มต้นจากการทดลองติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่ไขสันหลังแบบชั่วคราวก่อนซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ก่อนการฝังอุปกรณ์ถาวร เพื่อประเมิณการตอบสนองต่อ SCS โดยทั่วไปควรลดปวดได้ 50-100%


การใส่เครื่องกระตุ้นไขสันหลัง (Spinal Cord Stimulation) จะเกิดขึ้นได้โดยแพทย์จะใส่สายหรืออิเล็กโทรดเข้าไปในช่องระหว่างเยื่อหุ้มไขสันหลังบริเวณรอบไขสันหลังของคุณผ่านการใช้เข็ม เลือกฝังสายอิเล็กโทรดแบบใช้เข็มนำทาง (Percutaneous Lead) หรือแบบแผ่นฝัง (Flat Paddle Lead) ซึ่งจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์กระตุ้นภายนอกในช่วงทดลอง ขั้นตอนนี้ แพทย์จะปรับตำแหน่งของสายและพยายามให้เกิดการกระตุ้นในจุดต่างๆ เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดที่จะช่วยลดอาการปวด โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ (Fluoroscopy)ช่วยให้แพทย์สามารถวางสายไว้ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ระหว่างการทำขั้นตอนนี้ คุณอาจจะถูกปลุกขึ้นมาและถูกถามคำถามง่ายๆ ชั่วคราว (ผู้ป่วยส่วนใหญ่จำไม่ได้ว่าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น) เพื่อลดความรู้สึกไม่สบาย คุณจะได้รับยาชาเฉพาะที่และยาคลายกังวลเพื่อช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย หรือดมยาสลบในบางราย


คุณอาจต้องแจ้งระดับและตำแหน่งของความเจ็บปวดหรือความรู้สึกกระตุ้นที่คุณรับรู้เมื่อได้รับการกระตุ้นขั้นตอนนี้ ใช้เวลาประมาณ 30-90 นาที หลังจากหัตถการ ทีมแพทย์จะมาตรวจเยี่ยมเพื่อปรับตั้งค่าการกระตุ้นให้เหมาะสมและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ รวมถึงขอให้ผู้ป่วยบันทึกอาการปวดและระดับกิจกรรม ผู้ป่วยต้องดูแลแผลให้แห้งโดยหลีกเลี่ยงการอาบน้ำหรือแช่น้ำ แต่ใช้การเช็ดต้วทำความสะอาดแทนตลอดช่วงการทดลอง แนะนำให้ผู้ป่วยยังคงรับประทานยาแก้ปวดตามปกติ โดยทั่วไปใช้เวลาทดลองประมาณ 7 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าการทดลองได้ผลดีจริง


2. การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นถาวร

การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและแบตเตอรี่ถาวรมักทำหลังจากเอาอุปกรณ์ทดลองออกก่อนอย่างน้อย 2 วัน เพื่อมั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อ โดยมีกระบวนการใกล้เคียงกันกับการติดแบบทดลอง เพียงแต่ฝังแบตเตอรี่ไว้ที่บริเวณสะโพก


หลังจากที่ฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่ไขสันหลัง เสร็จสิ้น คุณจำเป็นต้องจำกัดการเคลื่อนไหว ของคุณเป็นเวลา 6 ถึง 8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเคลื่อนขยับของสายอิเล็กโทรดซึ่งทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จากการทดลองที่ดี ไม่ได้รับประกันว่าการใช้เครื่องถาวรจะให้ผลดีในระยะยาว

spinal cord stimulator เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไขสันหลัง


ข้อควรระวังหลังการรักษา

  • หลีกเลี่ยงการยกแขนเหนือศีรษะ หากฝังเครื่องที่กระดูกคอ
  • หลีกเลี่ยงการก้ม เงย หรือเอียงตัวมากเกินไป
  • ไม่ยกของหนักเกิน 2 กิโลกรัมในช่วง 3 สัปดาห์แรก และหลีกเลี่ยงของหนักในช่วง 3 เดือนแรก
  • หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน


ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน

  • ความเสียหายของอุปกรณ์หรือแบตเตอรี่
  • การขยับของอิเล็กโทรด อาจต้องผ่าตัดปรับตำแหน่งใหม่
  • การรั่วไหลของน้ำไขสันหลัง
  • การเกิดผังผืดรอบขั้วไฟฟ้า
  • อาการปวดมากขึ้นชั่วคราว หรือไม่ได้ผลในการลดปวด
  • ความเสี่ยงติดเชื้อรอบบริเวณฝังอุปกรณ์
  • ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น อัมพาต ชัก หรือปัญหาการทำงานของอวัยวะภายใน


ทางเลือกอื่นในการรักษา

  • การใช้ยาลดปวด
  • กายภาพบำบัด
  • การทำหัตถการเฉพาะจุดที่กระดูกสันหลัง
  • การผ่าตัดกระดูกสันหลัง


SCS เป็นทางเลือกที่ช่วยบรรเทาอาการปวดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy