การจัดการอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง คือ แนวทางแบบองค์รวมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อาการปวดเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็ง และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของโรค ตั้งแต่ก่อนการวินิจฉัย ระหว่างการรักษา ไปจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากต้องเผชิญกับอาการปวดที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ การจัดการความปวดจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
อาการปวดจากมะเร็งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในหลายมิติ ได้แก่
1. ด้านร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ลดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน เบื่ออาหาร น้ำหนักลดทำให้เกิดภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อการรักษรด้วยยาเคมีบำบัด หรือฉายแสงได้
2. ด้านจิตใจ เพิ่มความเครียด วิตกกังวล และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง และไม่ต้องการรับการรักษาต่อไป
3. ด้านครอบครัวและสังคม เพิ่มภาระให้กับผู้ดูแล และอาจก่อให้เกิดความเครียดในครอบครัว ส่งผลต่อความสัมพันธ์และคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้าง
4. ด้านเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายในการรักษาและการดูแลระยะยาวสูง ผู้ป่วยและผู้ดูแลอาจสูญเสียรายได้จากการหยุดงาน
1. การรักษาด้วยยา (Pharmacological Management)
แนวทางการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดอาศัยหลักการของ WHO Pain Ladder ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับที่ 1 (ปวดเล็กน้อย): ยาพาราเซตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen, Naproxen
- ระดับที่ 2 (ปวดปานกลาง): ยาโอปิออยด์ที่ออกฤทธิ์อ่อน เช่น Tramadol, Codeine
- ระดับที่ 3 (ปวดรุนแรง): ยาโอปิออยด์ที่ออกฤทธิ์แรง เช่น Morphine, Fentanyl patch, Oxycodone, Methadone ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ ง่วงซึม เวียนหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก มีเหงื่อออกมาก อาการง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน มักจะดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากกินยาไปได้สักระยะหนึ่ง
- นอกจากนี้ อาจมีการใช้ ยาร่วมรักษา (adjuvant medications) เช่น
ยากันชัก : กาบาเพนติน (Gabapentin ), พรีกาบาลิน(Pregabalin), มิโรกาบาลิน (Mirogabalin) สำหรับอาการปวดเส้นประสาท
ยาต้านซึมเศร้า (Amitriptyline, Nortriptyline, Duloxetine) เพื่อบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทและช่วยลดความเครียด อารมณ์ซึมเศร้า
ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลดการอักเสบ ลดบวม และการกดทับจากก้อนมะเร็ง
ยาเพิ่มมวลกระดูก เช่น Bisphosphonates, Denosumab สำหรับผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายไปยังกระดูก
2. การรักษาแบบไม่ใช้ยา (Nonpharmacological Treatment)
การรักษาแบบไม่ใช้ยามีบทบาทสำคัญในการบรรเทาอาการปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ได้แก่
2.1 การทำหัตถการเพื่อระงับปวด (Interventional Pain Management)
การบล็อกเส้นประสาท (Nerve Block) เช่น Celiac Plexus Neurolysis สำหรับอาการปวดท้องและหลังในมะเร็งตับอ่อน
การฝังปั๊มมอร์ฟีนเข้าทางไขสันหลัง (Intrathecal Morphine Pump) สำหรับผู้ป่วยที่ควบคุมอาการปวดด้วยยาโอปิออยด์ไม่ได้
การผ่าตัดทำลายเส้นประสาท (Cordotomy) ลดสัญญาณปวดจากไขสันหลัง
2.2 การรักษาทางกายภาพ
การทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายเบา ๆ
2.3 การรักษาด้านจิตใจ
จิตบำบัด (Psychological Therapy) และ การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (Cognitive Behavioral Therapy, CBT)
การฝึกสมาธิและสติ (Mindfulness Meditation)
2.4 การแพทย์ทางเลือก
การฝังเข็ม (Acupuncture)
การใช้สมุนไพร เช่น ขมิ้นชัน
อาการปวดจากโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การจัดการความปวดจึงต้องอาศัยแนวทางแบบองค์รวม โดยผสมผสานการใช้ยาและการรักษาแบบไม่ใช้ยาอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และได้รับการดูแลที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ