ปวดหลังแบบไหนเสี่ยงเป็นอะไร แยกแยะอาการปวดหลังที่เป็นออกไหม?
อาการปวดหลังเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน เราทำงานหนักเราก็ปวดหลังได้ เรานอนเยอะเราก็ปวดหลังได้ เรานั่งเฉยๆ ทั้งวันเราก็ปวดหลังได้ จึงทำให้หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่ต้องใส่ใจอะไร
การปวดหลังแบ่งได้เป็นหลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการเจ็บปวดจากท่าทางผิดปกติในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท บ่อยครั้งที่เราจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอาการปวดหลังของเรานั้นเป็นแค่อาการปวดธรรมดาหรืออาการปวดที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกาย
เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถประเมินความรุนแรงของอาการปวดหลังและรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างถูกต้อง บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจลักษณะอาการปวดหลังประเภทต่างๆ พร้อมวิธีสังเกตว่าอาการปวดหลังแบบไหนที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ทำความเข้าใจอาการปวดหลังทั้ง 3 แบบ
เช่นเดียวกับที่เราปวดส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาการปวดหลังก็มีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เราเข้าใจหมวดหมู่ของอาการปวดหลัง จะพาไปทำความรู้จักกับอาการปวดหลัง 3 รูปแบบหลักๆ ซึ่งจะแบ่งโดยลักษณะอาการ
1. อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน (Acute)
อาการปวดหลังแบบเฉียบพลันมักเกิดขึ้นทันทีหลังจากการบาดเจ็บหรือการใช้งานผิดท่า โดยปกติจะมีอาการปวดไม่เกิน 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดรุนแรงในช่วงแรก การเคลื่อนไหวลำบาก หรือรู้สึกปวดเสียวเวลาขยับตัว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการยกของหนัก การนั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน หรือการเล่นกีฬาที่ใช้แรงมากเกินไป การรักษาในระยะนี้เน้นการพักผ่อนให้เพียงพอ ประคบเย็นในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นประคบร้อน หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงรวมถึงการทานยาแก้ปวดตามคำแนะนำของแพทย์
2. อาการปวดหลังแบบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute)
อาการปวดหลังแบบกึ่งเฉียบพลันเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากการปวดแบบเฉียบพลัน โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์ ในช่วงนี้ความเจ็บปวดอาจจะลดลงบ้างแต่ยังไม่หายขาด อาการนี้อาจเกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันที่ส่งผลต่ออาการปวดหลังสะสม เช่น การนั่งทำงานเป็นเวลานาน หรือการนั่งท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่มีอาการปวดหลังแบบกึ่งเฉียบพลันอาจรู้สึกปวดร้าวไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ขา หรือคอ การรักษาอาจต้องใช้วิธีการที่เข้มข้นขึ้น เช่น การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง หรือการใช้ยาลดอาการอักเสบ หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
3. อาการปวดหลังแบบเรื้อรัง (Chronic)
อาการปวดหลังแบบเรื้อรังคืออาการที่เป็นต่อเนื่องนานเกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงขา หรือชาตามแขนขา ความรุนแรงของอาการอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกิจกรรมที่ทำ การรักษาต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างแพทย์หลายสาขา ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด ในบางกรณีอาจต้องพิจารณาการผ่าตัด และอาจรวมถึงจิตแพทย์ในบางราย เพราะอาการปวดเรื้อรังมักส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วย
สาเหตุของอาการปวดหลังเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไรได้บ้าง
เรารู้อาการปวดหลังแต่ละแบบแล้ว หากจะถามสาเหตุของอาการปวดหลัง ก็ต้องบอกว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุมากๆ ตั้งแต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน สภาพร่างกาย การบาดเจ็บ ไปจนถึงสาเหตุทางจิตใจ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของอาการปวดหลังจะช่วยให้เราสามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง มาทำความรู้จักกับสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังกันดีกว่า
สาเหตุจากพฤติกรรมและท่าทาง
- การนั่งทํางานในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์
- การยกของหนักในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง
- การยืนหรือนั่งนาน ๆ
- การนอนบนที่นอนที่แข็งหรือนุ่มเกินไป
- การสะพายกระเป๋าหนัก ๆ ข้างเดียว
สาเหตุทางกายภาพของสภาพร่างกาย
- น้ําหนักตัวที่มากเกินไปหรือภาวะอ้วน
- ความเสื่อมของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
- ภาวะกระดูกพรุนหรือเปราะบาง
- ความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กําเนิด เช่น กระดูกสันหลังคด
- การขาดการออกกําลังกาย ทําให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังไม่แข็งแรง
สาเหตุจากการบาดเจ็บและโรค
- การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
- กระดูกสันหลังอักเสบ
- เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง
- การติดเชื้อ
สาเหตุอื่นๆ
- ความเครียดและปัญหาทางอารมณ์
สาเหตุของอาการปวดหลังที่พบบ่อย ๆ ในคนไทย
สาเหตุหลักของอาการปวดหลังที่พบบ่อยในคนไทยมีหลายประการที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและการทำงานในปัจจุบัน การนั่งทำงานเป็นเวลานานในท่าที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งหลังงอหรือก้มคอมากเกินไป ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังเกิดการเกร็งตัวและอักเสบ การยกของหนักหรือออกแรงมากเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อย โดยเฉพาะการยกของในท่าที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและหมอนรองกระดูกสันหลัง
ความเสื่อมของกระดูกสันหลังตามวัยก็เป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีการเสื่อมของหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลัง ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการปวดหลัง เนื่องจากกระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมากเกินไป ความเครียดและปัจจัยทางจิตใจก็มีส่วนทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลัง นำไปสู่อาการปวดได้เช่นกัน
ประเภทของอาการปวดตามความเจ็บปวด
1. ปวดหลังส่วนบน
อาการปวดหลังส่วนบนมักพบในคนวัยทำงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การใช้ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ก้มคอมากเกินไป หลังค่อม หรือไหล่ห่อ จะทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณต้นคอและหลังส่วนบนทำงานหนักเกินไป นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่ภาวะออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมีอาการปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่ และหลังส่วนบน บางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่ศีรษะ เวียนศีรษะ หรือมีอาการชาร่วมด้วย
2. ปวดหลังส่วนกลาง
อาการปวดบริเวณกลางหลังมักเกิดจากการใช้งานผิดท่าทาง โดยเฉพาะการยกของหนักไม่ถูกวิธี การนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม หรือการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อบริเวณนี้มีหน้าที่พยุงกระดูกสันหลังให้มั่นคง เมื่อมีการใช้งานผิดวิธีอาจทำให้เกิดการอักเสบ เกร็ง หรือล้าของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรังได้
3. ปวดหลังส่วนล่าง
เป็นอาการปวดหลังที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุหลักมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปทำให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักมาก การยืนหรือนั่งนานๆ ในท่าเดียว การขาดการออกกำลังกาย หรือกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังอ่อนแรง อาการมักจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
4. ปวดหลังร่วมกับอาการชาหรืออ่อนแรง
อาการปวดที่มีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วยเป็นสัญญาณที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท อาการมักจะรุนแรงขึ้นเมื่อไอ จาม หรือเบ่ง บางรายอาจมีอาการชาร้าวลงขา หรือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยเร็ว
5. ปวดร้าวเหมือนไฟฟ้าช็อต
อาการปวดแบบเหมือนไฟช็อตมักเกิดจากเส้นประสาทถูกกดเบียด อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน กระดูกงอก หรือเนื้องอกกดทับเส้นประสาท อาการมักจะเป็นๆ หายๆ และอาจรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวบางท่า อาการปวดอาจร้าวไปตามแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ เช่น ร้าวลงขา หรือแขน
6. ปวดตรงแนวกระดูกกลางหลัง
อาการปวดที่เกิดตรงแนวกระดูกสันหลังอาจเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลังโดยตรง เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือเอ็นยึดอักเสบ อาการมักจะปวดตื้อๆ ตลอดเวลา และอาจรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว บางรายอาจมีอาการข้อติดหรือแข็งร่วมด้วย
สรุป
ก่อนไปวันนี้เราอยากจะฝากไว้เป็นเนื้อหาปิดท้ายคือ หลายคนอาจจะคิดว่าอาการปวดหลังเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่อยากจะให้เราเข้าใจว่า มนุษย์เรานั้นมีกลไกทางธรรมชาติที่เรียกว่า ความเจ็บปวด ซึ่งความเจ็บปวดที่ว่านี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันอันตรายและส่งสัญญาณว่ามีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น อาการปวดหลังก็เป็นหนึ่งในสัญญาณความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ที่บ่งบอกเราว่า มีบางอย่างผิดปกติในร่างกายของคุณแล้ว
เราใช้ชีวิตประจำวันผิดหรือไม่ ทำไมถึงเกิดปวดหลังบ่อยๆ หรือปวดอะไรรุนแรงจดเกิดการปวดหลัง ดังนั้นถ้าคุณมีอาการปวดหลังที่รุนแรง หรือมีอาการแปลก ๆ ร่วมด้วย อย่ามัวแต่ฝืนทน อย่าปล่อยให้สายเกินไป เพราะคุณอาจจะเสียใจทีหลังก็ได้
หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องอาการปวดหลังมากขึ้น ให้มีความรู้ติดตัวเอาไว้ เวลาตัวเองหรือคนรอบข้างมีอาการปวดหลัง จะได้ดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดหลังอีกต่อไป