อาการปวดไหล่ ร้าวลงไหล่เกิดจากเส้นประสาทกระดูกสันหลัง
เมื่อใดที่ร่างกายส่งสัญญาณจากอาการเจ็บปวดการปวดไหล่ร้าวลงแขนที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับหรืออักเสบจากความเสื่อมหรือท่าทางผิดซ้ำๆ อาการปวดไหล่ธรรมดาก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรังที่กัดกร่อนคุณภาพชีวิต ไม่เพียงแค่ปวดตื้อ ชาเสียว หรืออ่อนแรง หากปล่อยทิ้งไว้นานวัน อาจนำไปสู่ภาวะเส้นประสาทเสียหายถาวร ควบคุมแขนไม่ได้ดังใจได้เลย และหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงอาการเจ็บปวดทั่วๆ ไปไม่จำเป็นต้องพบแพทย์จนรักษาผิดทาง ซ้ำเติมการกดทับให้รุนแรงขึ้น การรู้จักแยกแยะระหว่าง ปวดไหล่ธรรมดา กับ ปวดไหล่ที่ส่งสัญญาณอันตราย จึงเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนที่เส้นประสาทจะถูกทำลายจนยากเกินเยียวยา

อาการปวดไหล่ร้าวลงแขนคืออะไร
ข้อไหล่เป็นข้อต่อที่มีความซับซ้อนและมีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย โดยมีความเชื่อมโยงกับกระดูกสันหลังส่วนคออย่างใกล้ชิด เมื่อมีการกดทับรากประสาทเหล่านี้ที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ จะส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวลงมาตามแนวเส้นประสาทนั้นๆ ทำให้มีอาการปวดไหล่ร้าวลงแขนได้ อาการปวดไหล่ร้าวลงแขนเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บปวดบริเวณไหล่ โดยความเจ็บปวดจะแผ่ลงมาตามแขนในลักษณะร้าว ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดไหล่ทั่วไป อาการนี้มักเกิดจากปัญหาที่กระดูกสันหลังส่วนคอ ไม่ได้เกิดจากปัญหาที่ข้อไหล่โดยตรง เมื่อมีการกดทับเส้นประสาทที่ออกจากกระดูกสันหลังส่วนคอ จะทำให้เกิดการอักเสบและส่งผลให้มีอาการปวดร้าวจากไหล่ลงสู่แขน บางรายอาจมีอาการชา หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มแทง หรือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนร่วมด้วย
ลักษณะอาการปวดไหล่ร้าวลงแขน
- ปวดแปลบหรือปวดตื้อบริเวณไหล่ คอ หรือสะบัก ร่วมกับอาการร้าวลงแขน มือ หรือนิ้ว
- อาจมีอาการชา รู้สึกเสียวซ่า หรืออ่อนแรงตามแขน
- อาการมักแย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวคอ เช่น เงยหน้า ก้มหน้า หรือบิดคอ
- บางรายมีอาการปวดมากขึ้นในท่าทางที่ต้องยกแขนหรือใช้แขนเป็นเวลานาน
ความแตกต่างระหว่างปวดไหล่ทั่วไปกับปวดจากกระดูกสันหลัง
- ปวดไหล่ทั่วไป : มักจำกัดอยู่บริเวณไหล่ ไม่ร้าวลงแขน เกิดจากการอักเสบของเอ็น กล้ามเนื้อ หรือข้อไหล่เสื่อม
- ปวดไหล่จากกระดูกสันหลัง : มีอาการปวดร้าวลงแขน ชา หรืออ่อนแรง มักสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวคอ
สาเหตุของอาการปวดไหล่ร้าวลงแขน
อาการปวดไหล่ร้าวลงแขนเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย มักเกิดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวจากคอลงสู่ไหล่ แขน และมือ บางรายอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งอาการมักกำเริบเมื่อเคลื่อนไหวคอหรือไหล่ สาเหตุหลักเกิดจากความเสื่อมของโครงสร้างกระดูกสันหลังตามวัย การนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสมนานๆ การยกของหนัก หรืออุบัติเหตุ โดยสามารถแบ่งสาเหตุได้ดังนี้
หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อน
เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ (ทำหน้าที่รับแรงกระแทก) เกิดการฉีกขาดหรือเสื่อมสภาพ ทำให้ส่วนแกนกลาง (Nucleus Pulposus) โป่งหรือเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาท สาเหตุมาจากการเสื่อมไปตามสสภาพอายุ การยกของหนักผิดท่า การนั่งทำงานนานๆ โดยเฉพาะการก้มหรือเงยคอต่อเนื่อง รวมถึงอุบัติเหตุที่กระทบกระแทกบริเวณคอ พบมากในวัย 30-50 ปี
กระดูกคอเสื่อม
ภาวะเสื่อมตามวัยของข้อต่อและกระดูกสันหลังส่วนคอ ทำให้เกิดกระดูกงอก (Osteophytes) กดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง สาเหตุมาจากการเสื่อมไปตามสสภาพอายุ หรือพฤติกรรมใช้คอผิดท่า เช่น การนั่งก้มหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์นานๆ โดยมักจะมีอาการปวดคอร่วมกับปวดร้าวลงแขน และอาการชาเมื่อกระดูกงอกไปกดทับเส้นประสาท
ช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ
เกิดจากช่องทางเดินของเส้นประสาทบริเวณคอแคบลง เนื่องจากกระดูกและข้อต่อเสื่อม เนื้อเยื่อหนาตัวขึ้น หรือมีกระดูกงอก สาเหตุมาจากการเสื่อมไปตามสสภาพอายุ และการใช้งานคอหนักซ้ำๆ อาการมักแย่ลงเมื่อแหงนคอหรือเคลื่อนไหวคอในท่าเดิมนานๆ
ข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนคออักเสบ
ข้อต่อเล็กๆ ระหว่างกระดูกสันหลังส่วนคอเกิดการอักเสบหรือเสื่อม จากอายุที่เพิ่มขึ้นหรืออุบัติเหตุ ส่งผลให้มีอาการปวดตื้อบริเวณคอและไหล่ อาจร้าวลงแขนได้หากมีการกดทับเส้นประสาท
กระดูกสันหลังเคลื่อน
ภาวะที่กระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม อาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด การเสื่อมของข้อต่อ หรืออุบัติเหตุรุนแรง พบน้อยในบริเวณคอเมื่อเทียบกับกระดูกสันหลังส่วนเอว แต่หากเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทได้
อาการปวดไหล่ร้าวลงแขนมีสัญญาณบ่งชี้อย่างไร
อาการปวดไหล่ร้าวลงแขนอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยบางประการที่ชี้ชัด เช่น ตำแหน่งของความเจ็บปวด อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นร่วมกัน รวมถึงพฤติกรรมหรือท่าทางที่กระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น การสังเกตลักษณะอาการเหล่านี้อย่างละเอียด และเป็นข้อมูลเพื่อไปพบกับแพทย์จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุได้แม่นยำ และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
ผู้มีอาการมักรู้สึกเจ็บปวดบริเวณไหล่ ต้นแขน และแขนส่วนล่าง โดยอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณมือและนิ้วได้ นอกเหนือจากอาการปวดแล้ว อาจมีอาการชาร่วมด้วย อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและมือ หรือรู้สึกเสียวแปลบบริเวณแขน อาการปวดอาจมีความสัมพันธ์กับท่าทางบางอย่าง เช่น การก้มศีรษะ การเงยหน้า หรือการเอี้ยวตัว ในบางกรณีอาการอาจแย่ลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของวัน เช่น ช่วงเช้า หรือช่วงเย็น
วิธีการรักษาอาการปวดไหล่ร้าวลงแขน
อาการปวดไหล่ร้าวลงแขนมักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ การรักษามีทั้งแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด โดยแพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ตรวจพบ
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
- รักษาโดยใช้ยา : ยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดไหล่ร้าวลงแขน ได้แก่ ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยาคลายกล้ามเนื้อ และยากลุ่มลดปวดปลายประสาท ยาเหล่านี้ช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด
- กายภาพบำบัด : วิธีการทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การประคบร้อน/เย็น, อัลตราซาวด์, การกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (TENS), Shock wave therapy และเลเซอร์กำลังสูง และโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ, ไหล่ และกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
- การทำหัตถการ : ในกรณีที่อาการปวดไม่ดีขึ้น การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องโพรงกระดูกสันหลัง หรือเข้าข้อต่อกระดูกสันหลัง อาจช่วยลดการอักเสบและอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว อีกวิธีหนึ่งคือการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency neurotomy) เพื่อระงับการนำสัญญาณความปวด ซึ่งให้ผลดีและอยู่ได้นานประมาณ 8-10 เดือน และสามารถทำซ้ำได้หากกลับมาปวดอีก
การรักษาแบบผ่าตัด
- การผ่าตัดจะพิจารณาในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น หรือมีภาวะรุนแรง เช่น อาการอ่อนแรงชัดเจน หรือสูญเสียการควบคุมระบบขับถ่าย การผ่าตัดมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับหมอนรองกระดูก โดยการผ่าตัดจะพิจารณาเมื่อมีอาการอ่อนแรงรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ และการรักษาแบบอื่นไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดส่องกล้องกระดูกสันหลัง และการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง การผ่าตัดส่องกล้องเป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กสอดเข้าไปในบริเวณที่ทำการผ่าตัด ในขณะที่การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง เป็นการเชื่อมกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันเพื่อลดการเคลื่อนไหวและอาการปวด
ดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกลอาการปวดไหล่ร้าวลงแขน
การดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการปวดไหล่ร้าวลงแขน เริ่มจากการปรับท่าทางการนั่งและยืนให้ถูกต้อง โดยใช้เก้าอี้และโต๊ะทำงานที่รองรับสรีระ เพื่อลดแรงกดทับต่อกล้ามเนื้อคอและหลัง พร้อมทั้งจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าทางผิดธรรมชาติเป็นเวลานาน เช่น นั่งก้มหน้าหรือยกไหล่ติดต่อกันหลายชั่วโมง
ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวและกล้ามเนื้อคอ-หลัง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ รวมถึงฝึกยกของหนักอย่างถูกวิธีด้วยการงอเข่าแทนการโน้มตัว และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวซ้ำๆ โดยไม่พักผ่อน ด้านการดูแลสุขภาพทั่วไป เราควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดสูบบุหรี่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
สรุป
ปัจจุบันนี้ เรามีความเสี่ยงเกิดอาการปวดไหล่ที่ร้าวลงแขน ซึ่งสาเหตุมันก็มาจากชีวิตของเราที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมยกของหนักเป็นประจำหรือใช้กล้ามเนื้อหลังผิดวิธี เพื่อป้องกันอยากขอเน้นย้ำว่าเราควรปรับท่านั่งทำงานให้ถูกต้อง ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจนำไปสู่ภาวะเรื้อรัง เส้นประสาทเสียหาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนกระทบการเคลื่อนไหวและคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ ซึ่งหากคุณพบว่าตัวเองมีอาการปวดเรื้อรัง การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งดีๆ สิ่งหนึ่งที่เราควรทำเป็นของขวัญให้กับร่างกายของเราเองโรงพยาบาลเซเปี้ยนซ์ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้